เดินหน้าต่อ! PPP รถไฟฟ้าสีเทา 2.7 หมื่นล้าน ไม่หวั่น “ชัชชาติ” ส่งต่อ รฟม.
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ กรุงเทพฯ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษา(สัมมนาปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ระยะ(เฟส) ที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) โดยนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. กล่าวเปิดประชุมว่า รถไฟฟ้าสายสีเทา เป็นโครงข่ายที่มีศักยภาพ จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้อย่างสมบูรณ์ โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 5 สี ได้แก่ สายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล, สายสีน้ำตาล ที่สถานีคลองลำเจียก, สายสีเหลือง ที่สถานีฉลองรัช, สายสีส้ม ที่สถานีพระราม 9 และสายสีเขียว ที่สถานีทองหล่อ
นายอานนท์ ศักดิ์บูรณาเพชร วิศวกรโครงการ กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการฯ พบว่า มีความเหมาะสม และคุ้มค่ากับการลงทุน อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 20.03% อีกทั้งเป็นโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว คาดว่าหลังจากนี้อีก 2-3 เดือน จะเสนอรายงานผลการศึกษาฯ ฉบับสมบูรณ์ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณาได้ หากเห็นชอบจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในปี 66 ต่อไป
นายอานนท์ กล่าวต่อว่า ตามแผนการดำเนินงานหาก ครม.เห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) และคัดเลือกเอกชนในปี 67-68 คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลปี 68 เริ่มก่อสร้างปี 69-72 และเปิดให้บริการปี 73 สำหรับอัตราค่าโดยสารแรกเข้าเริ่มต้นที่ 14 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง 2.50 บาทต่อ กม. คำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization
อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มี 15 สถานี มีมูลค่าลงทุนอยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตอบแทนและการชดเชยการใช้ที่ดิน 2.05 พันล้านบาท, ค่าก่อสร้าง (งานโยธา-งานระบบรถไฟฟ้า-งานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า) 2.31 หมื่นล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 100 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานฯ 841 ล้านบาท, ค่าออกแบบ 462 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำรอง 1.32 พันล้านบาท
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการร่วมลงทุน เบื้องต้นผลการศึกษาพบว่า การร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost สัมปทาน 30 ปี เป็นรูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ โดยรูปแบบดังกล่าว รัฐเป็นผู้รับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนรับผิดชอบก่อสร้างงานโยธา จัดซื้อขบวนรถ ก่อสร้างงานระบบ ดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยรัฐให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้ และเอกชนจ่ายค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งของรายได้ให้แก่รัฐ
นายอานนท์ กล่าวด้วยว่า คาดว่าในปี 73 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสาร 9.7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน รายได้ประมาณ 3.8 ล้านบาท/วัน ขณะที่ปี 77 ผู้โดยสาร 1.61 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 5.9 ล้านบาท/วัน ปี 2602 ผู้โดยสาร 2.49 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 19.2 ล้านบาทต่อวัน และปี 2622 ผู้โดยสาร 3.7 แสนคน-เที่ยว/วัน รายได้ 48.2 ล้านบาทต่อวัน ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา เฟสที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.2 กม. และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.5 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการหลังจากเฟสที่ 1 ไปอีก 5 ปี หรือประมาณปี 78
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามถึงกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีแนวคิดจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าของ กทม. ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเทาด้วยนั้น จะทำให้แผนการดำเนินงานโครงการนี้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งนายอานนท์ กล่าวว่า สจส. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบขนส่งและจราจรในกรุงเทพฯ มีภารกิจที่ต้องเตรียมโครงการให้พร้อมสำหรับดำเนินการต่อไป ส่วนรูปแบบว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการหลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ว่า กทม. ว่าจะเป็นอย่างไร
“โครงการนี้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาครั้งแรกแล้วเสร็จเมื่อปี 58 และมาทบทวนใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องศึกษาเรื่อง PPP ด้วย ซึ่งหากนับตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาจนถึงเปิดให้บริการในปี 73 ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ดังนั้นหากจะต้องมาศึกษาโครงการใหม่ทั้งหมด และกว่าจะได้เปิดให้บริการ ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอีก ดังนั้นเวลานี้ สจส. จะทำอย่างต่อเนื่อง และเตรียมทุกขั้นตอนไว้ให้พร้อม หากนโยบายผู้ว่า กทม. ออกมาเป็นแบบใด หน่วยงานนั้นๆ จะได้สามารถหยิบไปดำเนินการได้ทันที” นายอานนท์ กล่าว.คำพูดจาก เว็บสล็อตทดลองเล่น